รีวิวการใช้งาน Rokoko Vision เครื่องมือที่ทำให้ใครๆก็ถ่าย Mocap ได้

รีวิวการใช้งาน Rokoko Vision เครื่องมือที่ทำให้ใครๆก็ถ่าย Mocap ได้

หลังจากที่เราแนะนำการใช้งานชุด Motion Capture กันมาหลายครั้งแล้ว วันนี้เราจะพามาเปิดโลกใหม่ ด้วยการแนะนำอุปกรณ์ที่ทำให้สามารถสร้างงาน Animation แบบไม่ต้องพึ่งชุด Motion เลย
ที่ทำให้ใครๆ ก็สามารถถ่าย Mocap ได้ โดยอุปกรณ์ที่เราจะมารีวิววันนี้มีชื่อว่า Rokoko Vision เทคโนโลยีใหม่สุดเจ๋ง! จากทาง Rokoko แต่จะสร้างงานได้ระดับไหน หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง
ไปดูพร้อมกันเลย

Rokoko Vision คืออะไร ?
Rokoko Vision เหมาะกับใคร ?
การติดตั้งอุปกรณ์และการ Calibrate
ผลการบันทึก Mocap
Post-Process กระบวนการจัดการหลังบันทึก Mocap
สรุปข้อดี-ข้อสังเกตุที่พบ

Rokoko Vision คืออะไร ?
Rokoko Vision คือ ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวด้วยการบันทึกภาพวิดีโอ ผ่านกล้องความละเอียดสูง เพื่อให้ได้ไฟล์วิดีโอที่คมชัด สำหรับนำไปประมวลผลผ่านระบบ Ai ของ Rokoko
ให้ได้เป็นไฟล์ Mocap ข้อมูลการเคลื่อนไหวของเรา ซึ่งทาง Rokoko เพิ่งได้มีการ Upgrade ระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยระบบ dual-camera tracking
หรือการใช้ภาพจากกล้อง 2 ตัว แล้วนำมาประมวลผลร่วมกันผ่านระบบ Ai เพื่อให้ได้ข้อมูลการเคลื่อนไหวที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยระบบ Ai จะประมวลผลวิดีโอโดยทำงานบนระบบออนไลน์
ผ่าน Rokoko Account ของเรา จึงทำให้สามารถประมวลผลทิ้งไว้ได้ ไม่ต้องรอประมวลผลเสร็จ ก็สามารถบันทึก Shot ต่อไปได้เลย หลังจากประมวลผลเสร็จแล้ว ก็สามารถส่งไฟล์ Motion ที่ได้
ไปทำงาน Animation ต่อได้เลย

Rokoko Vision เหมาะกับใคร ?
ปกติแล้วการบันทึกการเคลื่อนไหว ต้องทำผ่านชุด Motion capture ที่อาศัยเซ็นเซอร์ของชุดในการจับการเคลื่อนไหว ซึ่งตัวชุดค่อนข้างมีราคา จึงเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับ Production
ระดับ Studio ขึ้นไป อาจไม่เหมาะกับผู้เริ่มต้น ดังนั้นการเลือกใช้ Rokoko Vision จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการบันทึก Mocap ไปใช้งานส่วนตัว
เช่นงาน Short -Animation ที่ต้องการสร้างงาน Animation ที่ไม่ได้ต้องการความละเอียดของงานมาก หรืออาจต้องการผลิตงานที่ใช้แค่การเคลื่อนไหวสั้นๆ ง่ายๆ หรืออาจใช้เป็นตัวช่วย
ลดระยะเวลาการทำงานของ Animator โดยอาจสร้างงานด้วย Rokoko Vision ส่วนหนึ่งจากนั้นนำไป Animate เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ จะได้ไม่ต้อง Animate เองทั้งหมด

การติดตั้งอุปกรณ์และการ Calibrate
อุปกรณ์ของ Rokoko Vision ประกอบไปด้วย กล้องความละเอียดสูง 2 ตัว และแผ่นที่ใช้สำหรับ Calibrate โดยกล้องตัวหลัก 1 ตัวอยู่ด้านหน้าพื้่นที่การแสดง แล้วกล้องอีกตัว
จะต้องวางอยู่ตำแหน่งทำมุม 45° – 90° จากกล้องตัวหลัก หลังจากเชื่อมต่อกล้องเรียบร้อยแล้วเราจะเปิดใช้งาน Rokoko Vision ผ่านเว็บไซต์ จากนั้นต้องทำการ Calibrate ก่อนการใช้งาน
ด้วยแผ่น Calibrateโดยขั้นตอนการ Calibrate นั้นจะมีคำแนะนำขึ้นให้อ่านก่อนการใช้งาน สามารถทำตามได้ง่ายๆ เลย และ Interface ค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ทำให้ใครๆก็ทำได้

ผลการบันทึก Mocap
หลังจาก Calibrate เสร็จแล้ว เราจะมาลองบันทึก Mocap กัน เพื่อจะได้ดูประสิทธิภาพการทำงานและข้อจำกัดของการทำงานกันแบบเรียลๆ โดยจะแบ่งการบันทึกออกเป็นหัวข้อต่างๆดังนี้

การเดิน/การวิ่ง
จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวง่ายๆอย่างการเดินและการวิ่ง ทำออกมาได้ค่อนข้างดีสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวได้ตรง แต่ด้วยข้อจำกัดของระบบนี้ นั่นก็คือพื้นที่ในการทำการแสดง
ต้องอยู่ภายในระยะการเก็บภาพของกล้อง ซึ่งหากอยู่ห่าง หรือ เข้าไกล้กล้องเกินไปการเคลื่อนไหวอาจมีกระตุกไปบ้าง

การกระโดด
ท่าทางขณะกระโดดยังคงเก็บได้ครบ แม้การกระโดดที่ไม่ค่อยสูงตัว Motion ที่ได้ จะเห็นว่ามีการลอยจากพื้นเล็กน้อย แต่หากต้องการเพิ่มความสูงการกระโดด สามารถ Animate เพิ่มเติมได้
โดยอาจ Animate Keyframe Position เพิ่มเพื่อให้ลอยจากพื้นมากขึ้น

ท่าคลานต่ำ
การแสดงท่านี้อาจยังทำได้ไม่ค่อยดี ซึ่งอาจเป็นผลมาจากที่การแสดงอยู่ต่ำในระดับการตั้งกล้อง ทำให้เก็บภาพได้ไม่ทั่วถึง จะเห็นได้ว่าขณะลงไปทำท่าคลานตัวแขนจมลงในพื้น
แต่หากตอนที่ลุกขึ้นมาจากท่าคลานขึ้นมาระดับกล้อง Model ก็กลับมายืนบนพื้นได้ปกติ

ท่าหมุนตัว
อาจมีกระตุกไปบ้างเล็กน้อยในบางมุมของการหมุน แต่โดยรวมก็ถือว่าทำออกมาได้ดีพอสมควรสามารถหมุนตัวได้รอบ Ai สามารถ Track การเคลื่อนไหวของผู้แสดงได้ไม่มีหลุด
ทำให้การแสดงบทแอคชั่น ที่ต้องมีการหมุนตัว อย่างท่าหมุนตัวเตะแบบคาราเต้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

ท่ากอดอกและท่าที่ใช้มือ
หนึ่งในข้อจำกัดหลักๆของ Rokoko Vision ก็คือจะไม่สามารถเก็บการเคลื่อนไหวของนิ้วมือได้ ทำให้การแสดงท่าที่ใช้มือร่วมอาจยังทำได้ไม่ดี เช่น การกำหมัด การพนมมือ รวมถึงการกอดอก
ที่ต้องใช้มือประสานร่วมกับแขนจึงยังทำได้ไม่เนียน ซึ่งอาจต้องนำไป Animated ต่อ ซึ่งหากไม่ได้มีการเปลี่ยนท่ามือบ่อยๆก็สามารถทำต่อได้ง่าย เช่น ท่ากำหมัด ก็สามารถจัด Pose โมเดล
เป็นท่ากำหมัดทิ้งไว้เลยก็ได้ แล้วใช้การเคลื่อนไหวที่เหลือเป็นท่าที่บันทึกมา

การแสดงบทบู๊หรือการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว
หลายคนอาจกังวลว่าหากแสดงบทบู๊ที่มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว นั้นจะทำได้หรือไม่ แต่เมื่อลองแสดงดูแล้วก็ต้องบอกเลยว่าไม่ผิดหวัง ถือว่าทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว
ระบบ Ai ยังคงตรวจจับการเคลื่อนไหวได้ทันและแสดงผลลัพธ์ Motion ออกมาได้อย่าง Smooth ดูตรงกับการเคลื่อนไหวจริงของนักแสดง และจะสังเกตได้ว่าหากท่ากระโดดที่สูงพอ
ตัว Motion ก็จะลอยขึ้นจากพื้นได้

ทดลองสวม Character ต่างๆ
อย่าที่เราบอกในตอนต้นว่า Rokoko Vision เหมาะกับงาน Animation ง่ายๆ หรือ การเคลื่อนไหวที่ไม่มีความซับซ้อนมาก จะเห็นได้ว่าหากนำมาใส่กับตัวละครที่ใช้การเคลื่อนไหวไม่เยอะ
ถือว่าเข้ากันได้อย่างดี ถือว่านำไปใช้งานได้จริงโดยแทบไม่ต้องมา Clean-Up Motion หรือการปรับการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมเลย

Post-Process
ในเรื่องของกระบวนการประมวลผลหลังจากการแสดง ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดของระบบนี้ ซึ่งการที่ต้องนำวิดีโอที่ได้ไปประมวลผลเป็นไฟล์ Mocap อีกที ทำให้เราไม่สามารถเห็นผลลัพธ์
การแสดงแบบ Real Time จะไม่สามารถรู้ได้ว่าส่วนไหนลื่นไหลดี หรือส่วนไหนจะติดขัด และที่สำคัญการประมวลผลยังต้องใช้เวลาอีกด้วย เฉลี่ยต่อ Shot ก็อยู่ที่ราวๆ 5 นาที
ซึ่งขึ้นอยู่กับความยาววิดีโอที่อัด จึงแนะนำว่าไม่ควรอัดทีละยาวๆ ควรแบ่งการอัดเป็น Shot สั้นๆ และหากเราอยากอัดหลาย Shot ก็สามารถประมวลผล Shot ที่เพิ่งอัดทิ้งไว้
จากนั้นก็บันทึก Shot ต่อไปได้เลยไม่ต้องรอ Shot ที่เพิ่งอัดประมวลผลเสร็จก่อน

หลังจากบันทึกเสร็จสามารถ Trim Clip ส่วนเกินออกได้ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปทำงานต่อ และนอกจากนนี้ยังสามารถส่งเข้าไปยังโปรแกรม Rokoko Studio เพื่อทดลองสวม Character ดูก็ได้

สรุป
Rokoko Vision ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ง่าย สะดวกพอสมควร เหมาะกับผู้เริ่มต้น ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ Motion Capture มาก ก็สามารถใช้งานได้ ตัวไฟล์ Motion ที่ได้
เหมาะกับการนำไปใช้งานใน Animation ที่มีการเคลื่อนไหวง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ซึ่งถือว่าค่อนข้างทำออกมาได้ดี แม้ว่า Rokoko Vision จะมีข้อจำกัดหลักๆ อยู่ในเรื่องของการที่ไม่สามารถบันทึก
การเคลื่อนไหวของมือ, นิ้วมือ และในเรื่องของการที่ไม่ได้แสดงผลลัพธ์ Mocap แบบ Real-time แต่ก็ถือว่าช่วยลดกระบวนการในงาน Animation เบื้องต้นได้ดีในระดับนึงเลยทีเดียว

ข้อดี
1.ใช้งานง่าย Ui Interface เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน
2.คล่องตัวมากกว่า เพราะไม่ต้องใส่ชุด
3.ค่อนข้างแม่นยำในการเคลื่อนไหวง่ายๆ
4.ประมวลผลวิดีโอในระบบออนไลน์ ทำให้ไม่กินทรัพยากรของเครื่อง

ข้อสังเกตุ
1.พื้นที่การแสดงค่อนข้างจำกัดอยู่ภายในระยะการเก็บภาพของกล้อง ทำให้ขณะทำการแสดง
ต้องคอยระวังไม่ให้ตัวเราหลุดเฟรม
2.ไม่สามารถประมวลผลแบบ Real-Time ทำให้ไม่สามารถดูผลลัพธ์ของ Motion ได้ทันที
3.ยิ่งบันทึกวิดีโอยาวการประมวลผลยิ่งนาน